ก่อนหน้านั้น รศ.ดร.เสรี ศุภราทิตย์ ผู้อำนวยการศูนย์การเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศและภัยพิบัติ มหาวิทยาลัยรังสิต ได้ออกมาเตือนฝนตกหนัก ให้เฝ้าระวังหลายพื้นที่จะเกิดน้ำท่วม ตั้งแต่วันที่ 9 ต.ค.เป็นต้นไป รวมถึงวันที่ 14 ต.ค. จะเกิดพายุโซนร้อน โดยภาคอีสาน จะได้รับผลกระทบอย่างหนัก
ส่วนสถานการณ์สภาพอากาศล่าสุด รศ.ดร.เสรี เปิดเผยกับ “ทีมข่าวเจาะประเด็นไทยรัฐออนไลน์ ระบุว่า ขณะนี้มีความน่ากังวล เนื่องจากพื้นที่ฝนตกหนักได้กระจายวงกว้าง และที่ผ่านมาไม่ทราบว่าหลายหน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้ประเมินกันอย่างไร อย่างกรณี น้ำท่วม ในพื้นที่ อ.ปากช่อง เคยเตือนมาแล้ว อีกทั้งไทยไม่เคยเจอพายุเข้ามามากถึง 3 ลูกภายใน 1 สัปดาห์ โดยจะเริ่มส่งผลกระทบต่อไทย ตั้งแต่วันที่ 12-19 ต.ค.
สิ่งที่ออกมาเตือนฝนตกหนักในช่วงสัปดาห์นี้ เริ่มจากพายุโซนร้อนลูกแรก หลิ่นฟา มาจากเวียดนามเข้าไทย ตามมาด้วยพายุลูกที่ 2 ซึ่งมาจากเกาะไหหลำ ประเทศจีน จะเข้ามาไทยในวันที่ 14 ต.ค.นี้ และลูกที่ 3 จะก่อให้เกิดลมมรสุมตะวันตกเฉียงใต้ เข้าฝั่งทะเลอันดามันของไทย ให้ระวังพื้นที่ภาคใต้ในอีก 2-3 วันข้างหน้า จะเกิดน้ำท่วม และยังไม่รวมพายุลูกที่ 4 ถือว่าหนักมาก จะเคลื่อนผ่านประเทศฟิลิปปินส์ในวันที่ 16 ต.ค.นี้ คาดว่าจะเข้าไทยช่วงวันที่ 18-20 ต.ค. ซึ่งมีพลังมากกว่าพายุลูกอื่นๆ
อย่างไรก็ตามในอีก 2-3 วันข้างหน้า ต้องรอดูว่าพายุลูกที่ 4 ซึ่งน่าจะเป็นพายุโซนร้อนขึ้นไป จะเข้าพื้นที่ใดในประเทศไทย อาจเป็นพื้นที่ที่อยู่ต่ำกว่าทางตอนใต้ของเวียดนาม คาดว่าเป็นพื้นที่ภาคอีสาน ภาคใต้ และภาคตะวันออกของไทย ส่วนพื้นที่ที่ได้รับผลกระทบไปก่อนหน้านี้แล้วก็จะหนักมากขึ้น ซึ่งน่าเป็นห่วง อ.ปากช่อง โดยหลังจากวันที่ 20 ต.ค. จะต้องประเมินสัปดาห์ต่อสัปดาห์ และเนื่องจากปีนี้เป็นปีลานีญา กำลังไต่ระดับสูง มีความรุนแรงมากขึ้น จะก่อให้เกิดความชื้นมากขึ้น ดังนั้นในเดือนต.ค.และ พ.ย. จะเกิดพายุอย่างต่อเนื่อง
แสดงว่าภาคใต้ มีความน่ากังวลมากที่สุด ในช่วงหลังปลายเดือนตุลาคม อีกอย่างเป็นช่วงฤดูฝนของภาคใต้ จึงต้องเฝ้าระวังให้มาก และพื้นที่กรุงเทพฯ จะโดนผลกระทบพายุลูกที่ 4 หรือไม่นั้น ไม่สามารถพยากรณ์ในระยะยาวได้ ต้องดูในช่วง 3 วัน ก่อนพายุเข้ามา และขึ้นอยู่กับเรดาร์น้ำฝน ซึ่งจะชัดเจนกว่า
นอกจากนี้ได้แสดงความกังวลว่าพื้นที่ตัวเมืองนครราชสีมา จะได้รับผลกระทบหนัก เนื่องจากขณะนี้ปริมาณน้ำในเขื่อนลำพระเพลิง ได้เกินจุดวิกฤติแล้ว และลำตะคอง มีปริมาณน้ำเพิ่มมากขึ้น หากฝนตกท้ายเขื่อนอีก จะต้องระวังพื้นที่ตัวเมืองนครราชสีมา ซึ่งอาจเกิดน้ำท่วมซ้ำรอยปี 2553 โดยพายุอีก 3 ลูกที่จะเข้ามาในสัปดาห์นี้ ยังไม่ทราบว่าฝนจะตกเหนือเขื่อน หรือตกท้ายเขื่อน หากตกเหนือเขื่อนจะสามารถรับมือได้ ยกเว้นฝนตกท้ายเขื่อน จะแย่หนักอย่างแน่นอน
ขณะที่ภาคเหนือ จะเริ่มมีฝนตกน้อยลง กำลังเข้าสู่สภาพอากาศหนาวเย็น ซึ่งปีนี้อากาศจะหนาวเย็นไม่มากเท่ากับปีที่ผ่านมา โดยอุณหภูมิไม่ต่ำกว่าปกติ ไม่เกิน 0.5 องศาเซลเซียส เนื่องจากภาวะโลกร้อนที่ร้อนมากขึ้น และปีนี้อากาศหนาวยาวนานไปถึงเดือน ก.พ. ซึ่งไม่หนาวเย็นจนเกินไป เรียกว่า อากาศดี