สำนักข่าวคมชัดลึก รายงานว่า ท่ามกลางการต่อสู้กับกับวายร้ายไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ 2019 (โควิด1-19) จำเป็นต้องมีอาวุธสำคัญหรือครุภัณฑ์ทางการแพทย์ หนึ่งในที่ทุกคนต้องใช้ติดตัวคือหน้ากากอนามัย รวมทั้งแบบN95 ที่เหมาะสำหรับบุคลากรทางการแพทย์ แต่สภาวะแบบนี้เกิดขาดแคลน แต่การแก้ไขปัญหาไม่เกินความสามารถของครูแพทย์ และนักวิจัยไทย
ล่าสุดวันนี้ ที่ศูนย์ปฏิบัติการด้านข่าวโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 กระทรวงสาธารณสุข จ.นนทบุรี ผศ.นพ.มล.ทยา กิติยากร รศ.พญ.สิริอร วัชรานานันท์ และผศ.พญ.ดรุณี โชติประสิทธิ์สกุล อาจารย์แพทย์ จากภาควิชาอายุรศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์รพ.รามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล พร้อมด้วยภก.สุรัชนี เศวตศิลา ผู้อำนวยการสำนักยาและวัตถุเสพติด กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์
ร่วมกันแถลงผลการวิจัยการฆ่าเชื้อเพื่อนำหน้ากาก N95 และหน้ากากอนามัยกลับมาใช้ซ้ำ ว่า สถานการณ์ระบาดโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) ที่เกิดขึ้น ทำให้มีปริมาณความต้องการใช้หน้ากากอนามัย N95 สูงในบุคลากรทางการแพทย์ทั่วโลก
การนำหน้ากากอนามัย และหน้ากาก N95 มาใช้ซ้ำ ถือเป็นทางเลือกหนึ่งที่จะนำมาปรับใช้ให้เข้ากับสถานการณ์ โดยจากการวิจัยพบว่าการนำเครื่องอบด้วย UV-C ที่มีจำหน่ายทั่วไป มาใช้ในการฆ่าเชื้อโรคหน้ากากอนามัย และหน้ากาก N95 สามารถกำจัดเชื้อไวรัสโควิด-19 ได้ โดยผิวเส้นใยไม่ยืดหรือขาด และช่องว่างระหว่างเส้นใยยังคงสภาพปกติ สามารถนำหน้ากากอนามัยมาอบซ้ำด้วย UV-C ได้ไม่เกิน 8 ครั้ง แต่แนะนำควรใช้ 4 ครั้ง
ทั้งนี้ กระทรวงสาธารณสุขได้เร่งจัดสรรไปยังโรงพยาบาลต่างๆ ทั่วประเทศ รวมทั้งได้มีแผนหาแหล่งผลิตทั้งในและต่างประเทศ เพื่อจัดหาให้เพียงพอต่อความต้องการรองรับสถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ที่เกิดขึ้น
ขอบคุณข้อมูลจาก komchadluek